วันอังคารที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562

ความดีและความงามต้องมีความเกี่ยวข้องกันหรือไม่ อย่างไร ?


         

          ความงามกับความดีนั้นมีความหมายที่คล้ายคลึงกัน หากแต่ความงามมีความหมายค่อนข้างกว้างกว่าความดี จากคำนิยามในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน คำว่า “ดี หมายถึง มีลักษณะที่เป็นไปในทางที่ต้องการ กระทำในทางที่ต้องการ น่าปรารถนา น่าพอใจ” ความดีเป็นนามธรรม หากแต่การแสดงออกถึงความดีสามารถแสดงให้เห็นเป็นรูปธรรมได้ คำว่า “งาม หมายถึง ลักษณะที่เห็นแล้วชวนให้ชื่นชมหรือพึงใจ มีลักษณะสมบูรณ์ดี มีลักษณะเป็นไปตามต้องการ” ความงามเป็นเรื่องของจิต เป็นความรู้สึกภายใน เป็นเรื่องของนามธรรม หากแต่สิ่งที่งาม เป็นเรื่องของความรู้สึกที่สัมผัสกับวัตถุภายนอก จะเห็นเป็นรูปธรรมมากขึ้น ความงามเป็นสิ่งที่ขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล การรับรู้ความงามย่อมเป็นไปตามอุปนิสัย การอบรม สภาพแวดล้อมและการศึกษา ความงามในทัศนะของคนๆหนึ่งอาจไม่ดีในทัศนะของอีกคนก็เป็นได้ ทั้งความดีและความงามเป็นสิ่งสัมพัทธ์ และต่างก็เป็นคุณสมบัติของสิ่งต่างๆบนโลก
          หากเปรียบกับมนุษย์ก็มีทั้งความงามภายนอก เช่น หน้าตา ร่างกาย หรือเครื่องประดับ และความงามภายใน เป็นเรื่องของความงามในจิตใจ เช่น ความดี ความอดทน ความมีเมตตากรุณา มนุษย์เรานั้นหากมีความดีแล้ว ความงามย่อมเกิดขึ้นตาม เมื่อเรากระทำความดี ไม่ว่าจะเป็นความดีในมุมมองของตัวเรา หรือในมุมมองของสังคม โดยความดีนั้นจะต้องไม่ทำให้ใครเดือดร้อน สิ่งที่เกิดจากความดีที่กระทำนั้น ทำให้เราเกิดความสบายใจ พึงพอใจ และสิ่งเหล่านี้สื่อให้เห็นลักษณะที่น่าชื่นชมอันเกิดจากความงามของจิตใจซึ่งเป็นความงามภายใน ดังนั้นความดีและความงามจึงมีความเกี่ยวข้องกันอยู่ในหลายๆแง่มุม อยู่ที่การตีความของบุคคล เคยมีคนกล่าวว่า “บางครั้งสิ่งที่มีความดี อาจไม่มีความงาม บางสิ่งมีความงาม แต่สิ่งๆนั้นก็ไม่ใช่สิ่งที่ดี และบางสิ่งอาจมีทั้งความดีและความงาม” หากแต่ในมุมมองของข้าพเจ้า ความดีย่อมทำให้เกิดความงาม ขึ้นอยู่กับว่าจะเป็นความงามในแง่มุมใด ซึ่งข้าพเจ้าเห็นด้วยกับคำกล่าวของ อิมมานูแอล คานท์ นักปรัชญาชาวเยอรมันที่กล่าวว่า “ความงาม เป็นสิ่งที่ดี เป็นความสุข ความเพลิดเพลินและความพึงพอใจ” ในทางพระพุทธศาสนา ความงามเกิดจากความดี เช่น งามเพราะศีล งามเพราะธรรม และงามเพราะปัญญา รวมทั้งการที่ผู้ปฏิบัติดี ย่อมมีความงามเกิดขึ้น การที่มนุษย์เราทำความดี ย่อมมีจิตใจที่เบิกบาน แจ่มใส อันเป็นความงามภายใน ส่งผลให้หน้าตาผ่องใส กิริยาวาจาก็เป็นมิตร อันเป็นความงามภายนอก แสดงให้เห็นว่าความดีก็เป็นฐานของความงาม 

หมายเหตุ* บทความนี้เป็นเพียงความคิดเห็นของผู้เขียนในทัศนะหนึ่งเท่านั้น 


วันเสาร์ที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2562

เกร็ดความรู้จากหนังสือสังคีตสัมพันธ์ กรมประชาสัมพันธ์น้อมเศียรอภิวันท์ 84 พรรษา มหาราชา


หนังสือสังคีตสัมพันธ์ กรมประชาสัมพันธ์น้อมเศียรอภิวันท์ 84 พรรษา มหาราชา
ผู้แต่ง : ส่วนบริหารการดนตรี สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย กรมประชาสัมพันธ์
          ในหนังสือสังคีตสัมพันธ์ กรมประชาสัมพันธ์น้อมเศียรอภิวันท์ 84 พรรษา มหาราชา ประกอบด้วยเรื่องราวต่างๆ ดังนี้
          1. พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชกับพระอัจฉริยภาพทางดนตรี  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเป็นครูดนตรีแห่งแผ่นดิน  ผู้เรืองศาสตร์สารพัน เป็นนักสร้างสรรค์พัฒนามีความเมตตาต่อศิลปิน กอปรกิจเป็นแบบอย่าง  และมีความกว้างไกลในทัศนีย์ พระราชกรณียกิจของพระองค์สะท้อนให้เห็นถึงสายพระเนตรอันกว้างไกลที่จะสร้างความแข็งแกร่งให้กับวงการดนตรีไทยและสากลอย่างต่อเนื่อง
          2. โน้ตเพลงไทยเล่มแรกของชาติ ชื่อหนังสือ “โน้ตเพลงไทยเล่ม 1-2,3 จัดพิมพ์โดยกรมศิลปากร 
เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เนื่องในมหามงคลวโรกาสฉลองสิริราชสมบัติ 50 ปี    (พ.ศ.2539)
          3. ปฐมบทดนตรีไทย กล่าวถึงประวัติวงดนตรีไทยกรมประชาสัมพันธ์ เมื่อพันเอกหลวงสารานุประพันธ์เข้ามาดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมโฆษณาการ ได้มีการตั้งแผนกดนตรีไทย และวงดนตรีไทยเป็นที่รู้จักมากขึ้นจากการบรรเลงออกอากาศทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย  และจรรโลงใจดนตรีสากล กล่าวถึง วงดนตรีสากลกรมประชาสัมพันธ์ มีการแบ่งยุคภายในด้วยกัน 5 ยุคในอดีต สิ้นสุดปีพ.ศ.2516 และหลังพ.ศ.2540 มีการปรับโครงสร้างหน่วยงานใหม่
          4. หลักวิชาดนตรีไทย  ซึ่งครูมนตรี ตราโมทได้กล่าวถึงหลักวิชาดนตรีไทยไว้ว่า สามารถจำแนกออกได้เป็น 4 ประการ คือ 1.หลักแห่งการผสมเสียงดนตรีเข้าเป็นวง 2.หลักการแบ่งหน้าที่ของเครื่องดนตรีต่างๆที่ผสมอยู่ในวง 3.หลักแห่งการแต่งเพลง และ4.หลักของการบรรเลง
          5. ศิลปินแห่งชาติกรมประชาสัมพันธ์ทั้ง 6 คน ประกอบด้วย 1.บุญยงค์ เกตุคง 2.จำเนียร ศรีไทยพันธ์ 3.รวงทอง ทองลั่นทม 4.เพ็ญศรี พุ่มชูศรี 5.สุดจิตต์ ดุริยประณีต และ6.มัณฑนา โมรากุล
          6. กลอนคุณพรพิรุณ กล่าวถึง ลักษณะดนตรี ความสวยงามและมีคุณค่าของดนตรีไทย
          7. ผู้มีคุณูปการแก่งานสังคีตสัมพันธ์ ได้แก่ ครูคงศักดิ์ คำศิริ  ครูเอื้อ สุนทรสนาน  พลโทม.ล.ขาบ กุญชร  และครูพุ่ม บาปุยะวาทย์
          8. กำเนิดวงดนตรีผสม “สังคีตสัมพันธ์”  บรรยากาศของดนตรีไทยในช่วง พ.ศ.2477-2489  ก่อนเกิดเพลงผสม จัดอยู่ในภาวะมืดมน  เพราะรัฐบาลสมัยนั้น  นอกจากจะไม่ส่งเสริมดนตรีไทยแล้ว ยังหันไปสนับสนุนให้คนไทยเล่นดนตรีแบบตะวันตก ยังคงมีเพียงนักดนตรีบางท่าน เช่น หลวงประดิษฐไพเราะที่ยังคงแต่งเพลงต่อไปอย่างไม่ย่อท้อ ในเวลาต่อมามีการทำวงดนตรีผสมขึ้น โดยที่ยังรักษาความเป็นไทยไว้  เพื่อเชิดชูเพลงไทยให้จำง่ายขึ้น  โดยนำดนตรีไทยมาบรรเลงแบบสากลและรักษาบรรยากาศแบบไทยๆ ไว้ได้อย่างผสมกลมกลืน
แนวความคิดหลักของดนตรีผสมสังคีตสัมพันธ์ คือการเทียบเสียงเครื่องดนตรีไทยให้สูงขึ้น  เพื่อให้เข้ากับวงสากลประเภทบิกแบนด์ และได้ทดลองสร้างเพลงผสม เขมรไทรโยคขึ้นเป็นเพลงแรก ส่วนเพลงผสมสังคีตสัมพันธ์เพลงแรก คือ เพลงกระแต
  ประชาชนเริ่มหันมาฟังเพลงไทยที่แปลงมาเป็นเพลงไทยสากลกันมากขึ้น เพราะคุ้นกับเพลงไทยอยู่แล้ว เมื่อนำมาใส่จังหวะให้กระชับขึ้นตามแบบดนตรีสากล โดยมีเนื้อร้องแบบเพลงไทย และร้องอย่างไม่เอื้อนมากเท่าเพลงไทย จึงเป็นเพลงที่ฟังง่ายและมีความไพเราะ อย่างไรก็ตาม ก็ยังมีผู้วิพากษ์วิจารณ์เพลงไทยแบบนี้ว่าเสียเอกลักษณ์ ความงาม และความไพเราะของเพลงไทยดั้งเดิม เป็นการทำลายศิลปะของชาติ
            เพลงสังคีตสัมพันธ์มาโด่งดังเมื่อกรมประชาสัมพันธ์เปิดสถานีโทรทัศน์ช่อง 4 บางขุนพรหมขึ้น วงดนตรีสังคีตสัมพันธ์ของกรมประชาสัมพันธ์เป็นวงดนตรีวงแรกที่ได้แสดงเปิดสถานี กรมประชาสัมพันธ์เริ่มมีงานบรรเลงทางสถานีวิทยุ สถานีโทรทัศน์และงานแสดงตามโรงภาพยนตร์มากขึ้น  เสียงต่อต้านก็ลดน้อยลงตามลำดับ จนเป็นที่นิยม
9. นิยามศัพท์สังคีตสัมพันธ์  ประกอบด้วยความหมายของสังคีต  สัมพันธ์  สังคีตสัมพันธ์  เพลงผสม  ดนตรีผสม และสังคีตประยุกต์  ซึ่งสังคีตสัมพันธ์ คือการบรรเลงผสมเคล้ากันไปตลอดเพลง  แต่สังคีตประยุกต์ คือการบรรเลง สลับกัน  ระหว่างเครื่องดนตรีไทยกับเครื่องดนตรีสากล   ดนตรีสังคีตสัมพันธ์มีเพลงรวมทั้งสิ้น 103 เพลง
          10. กลวิธีปรับระดับเสียงของเครื่องดนตรีไทย และการกำหนดหน้าที่และทำนองของเครื่องดนตรี
          11. ที่มาของทำนองเพลงไทย เช่น เพลงปทุมมาลย์ และเพลงพุ่มพวงดวงใจ มาจากเพลงเขมรพวง สองชั้น นานาทัศนะ เป็นคำพูดจากบุคคลสำคัญทางการดนตรี ที่พูดถึงสังคีตสัมพันธ์ของกรมประชาสัมพันธ์ และเสียงจากศิลปิน เป็นคำพูดจากศิลปินของกรมประชาสัมพันธ์ที่พูดถึงสังคีตสัมพันธ์
          12. ข้อมูลเกี่ยวกับเพลงสังคีตสัมพันธ์ทั้ง 84 เพลง ประกอบด้วยรายชื่อเพลงผสมสังคีตสัมพันธ์ทั้ง 84 เพลง แต่ละเพลงจะมีรายละเอียดผู้แต่งทำนองและคำร้อง  เนื้อร้อง และโน้ตเพลง และสุดท้ายมีการสรุปรายชื่อเพลงผสม ชื่อเพลงไทย เจ้าของเดิม ผู้ดัดแปลงทำนอง ผู้ประพันธ์เนื้อร้องและเนื้อร้องวรรคแรก

บรรณานุกรม
ส่วนบริหารการดนตรี สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย กรมประชาสัมพันธ์. (2554). สังคีตสัมพันธ์
        กรม
ประชาสัมพันธ์น้อมเศียรอภิวันท์ 84 พรรษา มหาราชา. กรุงเทพฯ: กรมประชาสัมพันธ์.