วันอังคารที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562

ความดีและความงามต้องมีความเกี่ยวข้องกันหรือไม่ อย่างไร ?


         

          ความงามกับความดีนั้นมีความหมายที่คล้ายคลึงกัน หากแต่ความงามมีความหมายค่อนข้างกว้างกว่าความดี จากคำนิยามในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน คำว่า “ดี หมายถึง มีลักษณะที่เป็นไปในทางที่ต้องการ กระทำในทางที่ต้องการ น่าปรารถนา น่าพอใจ” ความดีเป็นนามธรรม หากแต่การแสดงออกถึงความดีสามารถแสดงให้เห็นเป็นรูปธรรมได้ คำว่า “งาม หมายถึง ลักษณะที่เห็นแล้วชวนให้ชื่นชมหรือพึงใจ มีลักษณะสมบูรณ์ดี มีลักษณะเป็นไปตามต้องการ” ความงามเป็นเรื่องของจิต เป็นความรู้สึกภายใน เป็นเรื่องของนามธรรม หากแต่สิ่งที่งาม เป็นเรื่องของความรู้สึกที่สัมผัสกับวัตถุภายนอก จะเห็นเป็นรูปธรรมมากขึ้น ความงามเป็นสิ่งที่ขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล การรับรู้ความงามย่อมเป็นไปตามอุปนิสัย การอบรม สภาพแวดล้อมและการศึกษา ความงามในทัศนะของคนๆหนึ่งอาจไม่ดีในทัศนะของอีกคนก็เป็นได้ ทั้งความดีและความงามเป็นสิ่งสัมพัทธ์ และต่างก็เป็นคุณสมบัติของสิ่งต่างๆบนโลก
          หากเปรียบกับมนุษย์ก็มีทั้งความงามภายนอก เช่น หน้าตา ร่างกาย หรือเครื่องประดับ และความงามภายใน เป็นเรื่องของความงามในจิตใจ เช่น ความดี ความอดทน ความมีเมตตากรุณา มนุษย์เรานั้นหากมีความดีแล้ว ความงามย่อมเกิดขึ้นตาม เมื่อเรากระทำความดี ไม่ว่าจะเป็นความดีในมุมมองของตัวเรา หรือในมุมมองของสังคม โดยความดีนั้นจะต้องไม่ทำให้ใครเดือดร้อน สิ่งที่เกิดจากความดีที่กระทำนั้น ทำให้เราเกิดความสบายใจ พึงพอใจ และสิ่งเหล่านี้สื่อให้เห็นลักษณะที่น่าชื่นชมอันเกิดจากความงามของจิตใจซึ่งเป็นความงามภายใน ดังนั้นความดีและความงามจึงมีความเกี่ยวข้องกันอยู่ในหลายๆแง่มุม อยู่ที่การตีความของบุคคล เคยมีคนกล่าวว่า “บางครั้งสิ่งที่มีความดี อาจไม่มีความงาม บางสิ่งมีความงาม แต่สิ่งๆนั้นก็ไม่ใช่สิ่งที่ดี และบางสิ่งอาจมีทั้งความดีและความงาม” หากแต่ในมุมมองของข้าพเจ้า ความดีย่อมทำให้เกิดความงาม ขึ้นอยู่กับว่าจะเป็นความงามในแง่มุมใด ซึ่งข้าพเจ้าเห็นด้วยกับคำกล่าวของ อิมมานูแอล คานท์ นักปรัชญาชาวเยอรมันที่กล่าวว่า “ความงาม เป็นสิ่งที่ดี เป็นความสุข ความเพลิดเพลินและความพึงพอใจ” ในทางพระพุทธศาสนา ความงามเกิดจากความดี เช่น งามเพราะศีล งามเพราะธรรม และงามเพราะปัญญา รวมทั้งการที่ผู้ปฏิบัติดี ย่อมมีความงามเกิดขึ้น การที่มนุษย์เราทำความดี ย่อมมีจิตใจที่เบิกบาน แจ่มใส อันเป็นความงามภายใน ส่งผลให้หน้าตาผ่องใส กิริยาวาจาก็เป็นมิตร อันเป็นความงามภายนอก แสดงให้เห็นว่าความดีก็เป็นฐานของความงาม 

หมายเหตุ* บทความนี้เป็นเพียงความคิดเห็นของผู้เขียนในทัศนะหนึ่งเท่านั้น