วันเสาร์ที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2562

เกร็ดความรู้จากหนังสือสังคีตสัมพันธ์ กรมประชาสัมพันธ์น้อมเศียรอภิวันท์ 84 พรรษา มหาราชา


หนังสือสังคีตสัมพันธ์ กรมประชาสัมพันธ์น้อมเศียรอภิวันท์ 84 พรรษา มหาราชา
ผู้แต่ง : ส่วนบริหารการดนตรี สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย กรมประชาสัมพันธ์
          ในหนังสือสังคีตสัมพันธ์ กรมประชาสัมพันธ์น้อมเศียรอภิวันท์ 84 พรรษา มหาราชา ประกอบด้วยเรื่องราวต่างๆ ดังนี้
          1. พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชกับพระอัจฉริยภาพทางดนตรี  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเป็นครูดนตรีแห่งแผ่นดิน  ผู้เรืองศาสตร์สารพัน เป็นนักสร้างสรรค์พัฒนามีความเมตตาต่อศิลปิน กอปรกิจเป็นแบบอย่าง  และมีความกว้างไกลในทัศนีย์ พระราชกรณียกิจของพระองค์สะท้อนให้เห็นถึงสายพระเนตรอันกว้างไกลที่จะสร้างความแข็งแกร่งให้กับวงการดนตรีไทยและสากลอย่างต่อเนื่อง
          2. โน้ตเพลงไทยเล่มแรกของชาติ ชื่อหนังสือ “โน้ตเพลงไทยเล่ม 1-2,3 จัดพิมพ์โดยกรมศิลปากร 
เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เนื่องในมหามงคลวโรกาสฉลองสิริราชสมบัติ 50 ปี    (พ.ศ.2539)
          3. ปฐมบทดนตรีไทย กล่าวถึงประวัติวงดนตรีไทยกรมประชาสัมพันธ์ เมื่อพันเอกหลวงสารานุประพันธ์เข้ามาดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมโฆษณาการ ได้มีการตั้งแผนกดนตรีไทย และวงดนตรีไทยเป็นที่รู้จักมากขึ้นจากการบรรเลงออกอากาศทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย  และจรรโลงใจดนตรีสากล กล่าวถึง วงดนตรีสากลกรมประชาสัมพันธ์ มีการแบ่งยุคภายในด้วยกัน 5 ยุคในอดีต สิ้นสุดปีพ.ศ.2516 และหลังพ.ศ.2540 มีการปรับโครงสร้างหน่วยงานใหม่
          4. หลักวิชาดนตรีไทย  ซึ่งครูมนตรี ตราโมทได้กล่าวถึงหลักวิชาดนตรีไทยไว้ว่า สามารถจำแนกออกได้เป็น 4 ประการ คือ 1.หลักแห่งการผสมเสียงดนตรีเข้าเป็นวง 2.หลักการแบ่งหน้าที่ของเครื่องดนตรีต่างๆที่ผสมอยู่ในวง 3.หลักแห่งการแต่งเพลง และ4.หลักของการบรรเลง
          5. ศิลปินแห่งชาติกรมประชาสัมพันธ์ทั้ง 6 คน ประกอบด้วย 1.บุญยงค์ เกตุคง 2.จำเนียร ศรีไทยพันธ์ 3.รวงทอง ทองลั่นทม 4.เพ็ญศรี พุ่มชูศรี 5.สุดจิตต์ ดุริยประณีต และ6.มัณฑนา โมรากุล
          6. กลอนคุณพรพิรุณ กล่าวถึง ลักษณะดนตรี ความสวยงามและมีคุณค่าของดนตรีไทย
          7. ผู้มีคุณูปการแก่งานสังคีตสัมพันธ์ ได้แก่ ครูคงศักดิ์ คำศิริ  ครูเอื้อ สุนทรสนาน  พลโทม.ล.ขาบ กุญชร  และครูพุ่ม บาปุยะวาทย์
          8. กำเนิดวงดนตรีผสม “สังคีตสัมพันธ์”  บรรยากาศของดนตรีไทยในช่วง พ.ศ.2477-2489  ก่อนเกิดเพลงผสม จัดอยู่ในภาวะมืดมน  เพราะรัฐบาลสมัยนั้น  นอกจากจะไม่ส่งเสริมดนตรีไทยแล้ว ยังหันไปสนับสนุนให้คนไทยเล่นดนตรีแบบตะวันตก ยังคงมีเพียงนักดนตรีบางท่าน เช่น หลวงประดิษฐไพเราะที่ยังคงแต่งเพลงต่อไปอย่างไม่ย่อท้อ ในเวลาต่อมามีการทำวงดนตรีผสมขึ้น โดยที่ยังรักษาความเป็นไทยไว้  เพื่อเชิดชูเพลงไทยให้จำง่ายขึ้น  โดยนำดนตรีไทยมาบรรเลงแบบสากลและรักษาบรรยากาศแบบไทยๆ ไว้ได้อย่างผสมกลมกลืน
แนวความคิดหลักของดนตรีผสมสังคีตสัมพันธ์ คือการเทียบเสียงเครื่องดนตรีไทยให้สูงขึ้น  เพื่อให้เข้ากับวงสากลประเภทบิกแบนด์ และได้ทดลองสร้างเพลงผสม เขมรไทรโยคขึ้นเป็นเพลงแรก ส่วนเพลงผสมสังคีตสัมพันธ์เพลงแรก คือ เพลงกระแต
  ประชาชนเริ่มหันมาฟังเพลงไทยที่แปลงมาเป็นเพลงไทยสากลกันมากขึ้น เพราะคุ้นกับเพลงไทยอยู่แล้ว เมื่อนำมาใส่จังหวะให้กระชับขึ้นตามแบบดนตรีสากล โดยมีเนื้อร้องแบบเพลงไทย และร้องอย่างไม่เอื้อนมากเท่าเพลงไทย จึงเป็นเพลงที่ฟังง่ายและมีความไพเราะ อย่างไรก็ตาม ก็ยังมีผู้วิพากษ์วิจารณ์เพลงไทยแบบนี้ว่าเสียเอกลักษณ์ ความงาม และความไพเราะของเพลงไทยดั้งเดิม เป็นการทำลายศิลปะของชาติ
            เพลงสังคีตสัมพันธ์มาโด่งดังเมื่อกรมประชาสัมพันธ์เปิดสถานีโทรทัศน์ช่อง 4 บางขุนพรหมขึ้น วงดนตรีสังคีตสัมพันธ์ของกรมประชาสัมพันธ์เป็นวงดนตรีวงแรกที่ได้แสดงเปิดสถานี กรมประชาสัมพันธ์เริ่มมีงานบรรเลงทางสถานีวิทยุ สถานีโทรทัศน์และงานแสดงตามโรงภาพยนตร์มากขึ้น  เสียงต่อต้านก็ลดน้อยลงตามลำดับ จนเป็นที่นิยม
9. นิยามศัพท์สังคีตสัมพันธ์  ประกอบด้วยความหมายของสังคีต  สัมพันธ์  สังคีตสัมพันธ์  เพลงผสม  ดนตรีผสม และสังคีตประยุกต์  ซึ่งสังคีตสัมพันธ์ คือการบรรเลงผสมเคล้ากันไปตลอดเพลง  แต่สังคีตประยุกต์ คือการบรรเลง สลับกัน  ระหว่างเครื่องดนตรีไทยกับเครื่องดนตรีสากล   ดนตรีสังคีตสัมพันธ์มีเพลงรวมทั้งสิ้น 103 เพลง
          10. กลวิธีปรับระดับเสียงของเครื่องดนตรีไทย และการกำหนดหน้าที่และทำนองของเครื่องดนตรี
          11. ที่มาของทำนองเพลงไทย เช่น เพลงปทุมมาลย์ และเพลงพุ่มพวงดวงใจ มาจากเพลงเขมรพวง สองชั้น นานาทัศนะ เป็นคำพูดจากบุคคลสำคัญทางการดนตรี ที่พูดถึงสังคีตสัมพันธ์ของกรมประชาสัมพันธ์ และเสียงจากศิลปิน เป็นคำพูดจากศิลปินของกรมประชาสัมพันธ์ที่พูดถึงสังคีตสัมพันธ์
          12. ข้อมูลเกี่ยวกับเพลงสังคีตสัมพันธ์ทั้ง 84 เพลง ประกอบด้วยรายชื่อเพลงผสมสังคีตสัมพันธ์ทั้ง 84 เพลง แต่ละเพลงจะมีรายละเอียดผู้แต่งทำนองและคำร้อง  เนื้อร้อง และโน้ตเพลง และสุดท้ายมีการสรุปรายชื่อเพลงผสม ชื่อเพลงไทย เจ้าของเดิม ผู้ดัดแปลงทำนอง ผู้ประพันธ์เนื้อร้องและเนื้อร้องวรรคแรก

บรรณานุกรม
ส่วนบริหารการดนตรี สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย กรมประชาสัมพันธ์. (2554). สังคีตสัมพันธ์
        กรม
ประชาสัมพันธ์น้อมเศียรอภิวันท์ 84 พรรษา มหาราชา. กรุงเทพฯ: กรมประชาสัมพันธ์.

วันเสาร์ที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2562

ดนตรีไทยกับเยาวชน



            ในวันเสาร์ สัปดาห์ที่ 2 ของเดือนมกราคม ซึ่งตรงกับ วันเด็กแห่งชาติ โดยวันเด็กนั้นจัดขึ้นเพื่อให้ประชาชนได้ตระหนักถึงความสำคัญของเด็ก สนใจในการเลี้ยงดูอบรมสั่งสอนเด็ก เพื่อให้เด็กและและเยาวชนยึดมั่นในสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข เพื่อให้เด็กรู้จักหน้าที่ของตน และอยู่ในระเบียบวินัยอันดี
            ดนตรีไทยนั้น ถือได้ว่าเป็นมรดกที่สำคัญของประเทศชาติ โดยมีเยาวชนเป็นส่วนสำคัญในการสืบทอดและอนุรักษ์ดนตรีไทยไว้ให้คงอยู่สืบไป ภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์ อันเป็นเหตุให้วัฒนธรรมตะวันตกหลั่งไหลเข้ามาสู่สังคม เยาวชนนิยมบริโภคดนตรีจากต่างชาติมากยิ่งขึ้น แต่ยังมีเยาวชนจำนวนไม่น้อยที่ตระหนักถึงคุณค่าของดนตรีไทย ร่วมกันสืบสานดนตรีไทยให้คงอยู่
            ในการเรียนดนตรีไทยนั้น สมัยก่อนบิดามารดามักนำเด็กไปฝากให้เรียนดนตรีที่บ้านครู โดยกินนอนอยู่กับครูเหมือนกับเป็นลูกเป็นหลานของครู โดยไม่ต้องเสียค่ากินอยู่และค่าเล่าเรียนเลย นอกจากจะต้องฝึกหัดดนตรีแล้ว เด็กจะต้องช่วยงานที่บ้านครู เช่น ตักน้ำ หุงข้าว ขนย้ายเครื่องดนตรี เวลาไปออกงานบรรเลงตามที่ต่างๆ รวมทั้งรับใช้ท่านครู และนักดนตรีรุ่นพี่ตามสมควร  ปัจจุบันนี้วิธีการเรียนดนตรีไทย โดยรูปกินนอนอยู่บ้านครูได้เลิกไปแล้ว เปลี่ยนเป็นให้ครูมาสอนที่โรงเรียน โดยกำหนดตารางสอนแน่นอน ต่างจังหวัดอาจจะมีบ้านครูดนตรีไทยเช่นนี้เหลืออยู่บ้าง แต่ก็น้อยเต็มที ระเบียบแบบแผนการเรียนการสอนมีความเปลี่ยนแปลงไป สิ่งสำคัญในการเรียนการสอน ไม่ใช่แค่เพียงการมุ่งเน้นที่การปฏิบัติดนตรี เพียงอย่างเดียว ครูจะต้องปลูกฝังทัศนคติที่ดีต่อดนตรีไทย ปลูกฝังองค์ความรู้ทางดนตรีไทยที่สำคัญและคุณธรรมจริยธรรมที่ดีงามให้แก่เยาวชน
            นอกจากการเรียนการสอนดนตรีไทยในระบบ นอกระบบ และตามอัธยาศัยแล้ว  ปัจจุบันได้มีหน่วยงานต่างๆสนับสนุนและส่งเสริมการจัดกิจกรรมทางด้านดนตรีไทย อาทิเช่น คณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ (กวช.) เห็นชอบให้กระทรวงวัฒนธรรม เริ่มดำเนินการนโยบายส่งเสริมให้เด็กไทยทุกคน เล่นดนตรีไทยเป็น 1 ชนิด ภายใน 5 ปีสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ จัดการแข่งขันศิลปหัตถกรรมขึ้นทุกปี และจัดค่ายพัฒนาผู้มีความสามารถพิเศษทางด้านดนตรีไทย ทั้งยังมีรายการต่างๆ ที่นำเสนอการแสดงดนตรีไทย เช่น รายการคุณพระช่วย รายการดนตรีกวีศิลป์  รวมถึงมีการเผยแพร่ดนตรีไทยในสังคมออนไลน์ทั้งดนตรีไทยแบบดั้งเดิม และดนตรีไทยร่วมสมัย
            ในด้านเนื้อร้องเพลงไทย ได้มีการแต่งบทกวีที่เกี่ยวข้องกับเยาวชน เป็นการในการเล่นดนตรีไทย ได้แก่ เพลงอาหนู เถา บทร้องของเก่าสามชั้น และบทร้องสองชั้น และชั้นเดียว บทพระราชนิพนธ์ในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี กล่าวถึง การเรียนดนตรี การเริ่มต้นอาจยังเล่นได้ไม่ดี ต้องอาศัยการฝึกฝน การชี้นำจากครู ขยันหมั่นเพียร และพัฒนาตน เมื่อเติบโตขึ้น สามารถบรรเลงดนตรีได้ดี อีกทั้งกิริยามารยาทก็เหมาะสม เป็นที่น่าชื่นชม 
เนื้อร้องเพลงอาหนู เถา
สามชั้น                  อาหนูน้อยน้อย                                    ค่อยบรรเลงเป็นเพลงเล่น
                        ไม่กระจ่างทางสุนทรที่ซ่อนเร้น                ฟังก็เป็นเพลงได้แต่ไม่ดี
                        ฉันยังเด็กเล็กอยู่ที่ครูสอน                          ปัญญาก็อ่อนลืมเลือนเชือนวิถี
                        ทั้งร้องรับขับลำเพลงดนตรี                        จะหาที่เพราะยากลำบากใจ
                        ขออภัยในอักษรกลอนประเทียบ               ยังไม่เรียบร้อยแน่เชิญแก้ไข
                        เอ็นดูได้เป็นครูอาหนูเอย
                                                                                           (บทขับร้องของเก่า)
สองชั้น                  เจ้าสาวสาวสาวสาวรุ่นใหม่                 เจ้าเติบใหญ่ทางเพลงเล่นชำนาญ
                        ขับร้องซ้องเสียงหวาน                              มีปฏิภาณเชิงกวี
                        พากเพียรขยันแต่เด็ก                                อาหนูเล็กนำเกียรติศรี
                        ครูสอนจนได้ดี                                        ได้ดีมีวัฒนธรรม
ชั้นเดียว                  เก่งกาจศาสตร์ศิลป์เรืองนาม             กิริยาก็งามหน้าคมขำ
                        เล่นได้ทั้งปี่พาทย์มโหรี                            มีชื่อระบือไกล
                        ใครได้ฟังพอใจ                                        สาวคล่องว่องไวน่าชม
                                    (บทพระราชนิพนธ์ในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี)

            เพลงเต่ากินผักบุ้ง สองชั้น บทร้องโดยครูมนตรี ตราโมท กล่าวถึงในการศึกษาเล่าเรียน ควรขยันหมั่นเพียร เพื่อความก้าวหน้าในชีวิต แม้มีอุปสรรคใดๆ หรือเหนื่อยยากเพียงใดก็ต้องมีความมุ่งมั่น เพียรพยายาม ฝ่าฟันไปให้ได้
เนื้อร้องเพลงเต่ากินผักบุ้ง โดย ครูมนตรี ตราโมท
                 ยามเรียนข้าจะเรียนเพียรศึกษา                          เพื่อก้าวหน้าต่อไปไม่ถอยหลัง
จะเหนื่อยยากสักเท่าใดไม่หยุดยั้ง                                       จนกระทั่งสำเร็จเสร็จสมใจ
ดอกเอ๋ยเจ้าดอกมะไฟ                                                         จิตมุ่งมั่นอันใด ไม่แคล้วไปเลยเอย 
ผลแห่งความพยายามเอย จะตามมาสนอง                            สิ่งใดที่ใฝ่ปอง ต้องเสร็จสมอารมณ์เอย 
            นอกจากนี้ยังมีเพลงแม่งู /งูกลืนหาง ซึ่งเนื้อร้องของเพลงนี้ เป็นพระนิพนธ์ของสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระยานริศรานุวัตติวงศ์ ซึ่งอยู่ในละครเรื่องอิเหนา ตอน บุษบาไหว้พระปฏิมากร ปะสันตาพวกพี่เลี้ยงของอิเหนาได้มาเล่นงูกลืนหางกัน การแสดงนี้เหมาะสำหรับเด็ก ๆ ตั้งแต่วัยอนุบาลจนถึงวัยประถม มีประโยชน์ในการช่วยฝึกลีลาการโยกตัวตามจังหวะของเพลง ช่วยให้เด็กกล้าแสดงออก และมีความสามัคคีในการละเล่นร่วมกัน
เนื้อร้องเพลงแม่งู
พ่องู -  แม่เอยแม่งู เจ้าไปสู่ที่ไหนมา
แม่งู -  ฉันไปกินน้ำหนา กลับมาเมื่อตะกี้
พ่องู -  ไปกินน้ำบ่อไหน จงบอกไปให้ถ้วนถี่
แม่งู -  ฉันจะบอกประเดี๋ยวนี้
พ่องู -  บอกมาซี อย่าเนิ่นช้า
ลูกงู -  ไปกินน้ำเอย กินน้ำบ่อหิน ไปกินน้ำบ่อหิน บินไปบินมา
บินเอ๋ยบินร่อน ดั่งกินนรบนภูผา รักเจ้ากินรา บินมาบินไปเอย
พ่องู - เราจะขอถามอีกสักหน่อย
แม่งู - ถามอะไรบ่อย ๆ ไปทีเดียว
พ่องู - เออ เมื่อเจ้าไปเที่ยว กินน้ำบ่อเดียวหรือไฉน
แม่งู -  ฉันไปกินอีกบ่อ หนึ่งหนาเจ้าพ่องูใหญ่
พ่องู - เขาเรียกว่าน้ำบ่ออะไร จงบอกไปเร็วเถิดหนา
ลูกงู -  ไปกินน้ำเอย กินน้ำบ่อโศก ไปกินน้ำบ่อโศก โยกไปโยกมา
โศกเอ๋ย โศกเศร้า คิดถึงเจ้าทุกเวลา รักเจ้าพวงดอกโศก โยกมาโยกไป เอย
           นับว่าเป็นความโชคดีที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารีได้ทรงเป็นผู้นำเพื่อให้คนไทยทุกคนได้ตระหนักถึงคุณค่าและความสำคัญของดนตรีไทยอันเป็นเอกลักษณ์ประจำชาติ  ทั้งยังก่อให้เกิดปณิธานร่วมกันของประชาชนในการส่งเสริมและเผยแพร่ดนตรีไทยสู่เยาวชนรุ่นใหม่สืบไป