ความแตกต่างและความสัมพันธ์ระหว่างหลักสูตรและการสอน
จิรกานต์ สิริกวินกอบกุล
หลักสูตรและการสอนนั้นมีความแตกต่างกัน
ดังจะเห็นได้จากความหมายของคำทั้งสองคำ ดังนี้
คำว่า “หลักสูตร” มาจากคำภาษาอังกฤษว่า
“Curriculum” ซึ่งเป็นคำที่มาจากภาษาละตินว่า “Currer” หมายถึง
ทางวิ่ง หรือ ลู่วิ่ง
ราชบัณฑิตยสถาน (2555) ได้ให้คำนิยามของหลักสูตรไว้ว่า “หลักสูตร หมายถึง แผนการจัดการศึกษาที่ประมวลเนื้อหาสาระ
ประสบการณ์และกิจกรรมต่างๆ โดยมีองค์ประกอบสำคัญ ได้แก่ หลักการ จุดหมาย
สาระการเรียนรู้ แนวทางการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ สื่อการเรียนการสอน
การวัดและการประเมินผลการเรียนรู้
เพื่อให้ผู้เรียนมีพัฒนาการต่างๆตามจุดหมายที่กำหนดไว้
คำว่า curriculum ที่เป็นพหูพจน์ใช้คำว่า
curricula และที่เป็นคำคุณศัพท์ใช้ว่า curricular”
โอลิวา (Oliva, 1992) ได้ศึกษาความหมายของหลักสูตรพบว่าการให้ความหมายหลักสูตรขึ้นอยู่กับลักษณะความเชื่อหรือปรัชญาของแต่ละบุคคล
และได้รวบรวมความหมายของหลักสูตรไว้ดังนี้
1. หลักสูตร คือ สิ่งที่สอนในโรงเรียน
2. หลักสูตร คือ เนื้อหาวิชา
3. หลักสูตร คือ โปรแกรมสำหรับการเรียน
4. หลักสูตร คือ กลุ่มของวัสดุอุปกรณ์
5. หลักสูตร คือ กลุ่มวิชา
6. หลักสูตร คือ ลำดับของรายวิชา
7. หลักสูตร คือ จุดมุ่งหมายที่ผู้เรียนพึงบรรลุ
8. หลักสูตร คือ รายวิชาที่จะศึกษา
9. หลักสูตร คือ ทุกสิ่งทุกอย่างที่ดำเนินภายในโรงเรียนและกิจกรรมชั้นเรียน
การแนะแนว รวมทั้งบุคคลที่เกี่ยวข้อง
10.หลักสูตร คือ สิ่งที่สอนทั้งในและนอกห้องเรียน โดยการดูแลจากโรงเรียน
11.หลักสูตร คือ ทุกสิ่งที่ได้วางแผนจากบุคลากรในโรงเรียน
12.หลักสูตร คือ ลำดับขั้นตอนของประสบการณ์ที่โรงเรียนจัดให้แก่ผู้เรียน
13.หลักสูตร คือ ผลของประสบการณ์ที่ผู้เรียนแต่ละคนได้รับมาจากโรงเรียน
จากความหมายของหลักสูตรข้างต้น
สรุปได้ว่า หลักสูตรมีความหมายสองนัย ความหมายในวงแคบหลักสูตร คือ
วิชาหรือเนื้อหาที่สอน ส่วนความหมายในวงกว้าง หลักสูตร คือ
มวลประสบการณ์ทั้งหลายที่จัดให้แก่ผู้เรียนทั้งภายในและภายนอกโรงเรียน
ซึ่งเป็นทั้งทางตรงและทางอ้อม หรืออาจนิยามความหมายของหลักสูตรได้เป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่นิยามหลักสูตรว่า ได้แก่
สิ่งที่เป็นเอกสารที่แสดงออกมาในรูปของตัวหลักสูตร คู่มือครู หน่วยการเรียนรู้
แผนการจัดการเรียนรู้ หนังสือเรียน หนังสือเสริมประสบการณ์ ตลอดจนสื่อการเรียนรู้
และอุปกรณ์ในรูปแบบต่างๆ
อีกกลุ่มหนึ่งจะนิยามหลักสูตรให้ครอบคลุมทั้งสิ่งที่เป็นเอกสารและกิจกรรม
หรือประสบการณ์ทั้งหลายที่โรงเรียนจัดให้แก่ผู้เรียน (ศักดิ์ศรี ปาณะกุล, 2549)
ส่วนคำว่า การสอน (Teaching) หมายถึง การจัดกระบวนการถ่ายทอดข้อมูล ความรู้ ความคิด ความรู้สึก
เจตคติ ค่านิยม รวมทั้งทักษะต่างๆจากผู้สอนไปสู่ผู้เรียน
หรือจากบุคคลหนึ่งไปยังอีกบุคคลหนึ่ง โดยใช้วิธีการบอก เล่า บรรยาย อธิบาย ชี้แจง สาธิตหรือวิธีอื่นๆ
ตามความเหมาะสมกับวัตถุประสงค์และสถานการณ์ ซึ่งสามารถทำได้ทุกเวลาและสถานที่
ไม่จำกัดเฉพาะในห้องเรียนหรือในเวลาเรียนเท่านั้น
เป็นกระบวนการที่เน้นบทบาทของผู้สอนในการจัดกิจกรรมที่เอื้อต่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม
และสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้สอนกับผู้เรียน (ราชบัณฑิตยสถาน, 2555)
และการเรียนการสอน
(Instruction) หมายถึง การจัดประสบการณ์ กิจกรรมการเรียนรู้ และการฝึกทักษะ โดยใช้ยุทธศาสตร์กระบวนการ
วิธีการ สื่อและเทคนิคต่างๆ
ที่สามารถช่วยให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ตามวัตถุประสงค์ที่กำหนด เป็นกระบวนการที่ให้ความสำคัญต่อผู้เรียน
กระบวนการเรียนรู้ บทบาทการเรียนรู้ของผู้เรียน
และปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้เรียนกับผู้สอน ผู้เรียนกับผู้เรียน หรือกับสื่อต่างๆ
ที่เหมาะสม บางครั้งมีผู้ใช้คำว่า การสอน ในความหมายการเรียนการสอน เช่น “Curriculum
and instruction” (ราชบัณฑิตยสถาน, 2555)
ราชบัณฑิตยสถาน (2555) ได้ให้คำนิยามของคำว่า หลักสูตรและการสอน ,
หลักสูตรและการเรียนการสอนไว้ว่า “1.สาขาวิชาหนึ่งของศึกษาศาสตร์ที่ว่าด้วยการพัฒนา
การจัดการศึกษาเกี่ยวกับหลักสูตรและการจัดการเรียนการสอน 2.แผนการจัดการศึกษาและแนวทางการจัดการเรียนการสอนที่เหมาะสมกับผู้เรียน จากความหมายของหลักสูตรและความหมายของการสอนดังที่กล่าวมาข้างต้น
จะเห็นได้ว่าการสอนเป็นกิจกรรมส่วนหนึ่งที่อยู่ในความหมายของหลักสูตร
เพราะความหมายของหลักสูตรจะครอบคลุมสิ่งต่อไปนี้
1.ประสบการณ์การเรียนรู้ที่เป็นเนื้อหาสาระ
ได้แก่ สาระการเรียนรู้ทั้งหมดที่มุ่งให้ผู้เรียนได้รับทั้งด้านเนื้อหา ทักษะ
กระบวนการ คุณธรรมจริยธรรม เจตคติและค่านิยมที่ถูกต้อง
2.ประสบการณ์การเรียนรู้ที่เป็นกิจกรรม
เช่น กิจกรรมการเรียนการสอนในชั้นเรียน กิจกรรมพัฒนาผู้เรียน การศึกษาค้นคว้า
การฝึกปฏิบัติในสภาพจริง การวัดและการประเมินผล เป็นต้น (นิรมล ศตวุฒิ, 2549)
ภาพรวมของกระบวนการในการพัฒนาหลักสูตร
สามารถสรุปได้ 8
ขั้นดังนี้
ขั้นที่ 1
การวิเคราะห์และรวบรวมข้อมูลพื้นฐาน
ขั้นที่ 2 การกำหนดหลักการและจุดมุ่งหมายของหลักสูตร
ขั้นที่ 3 การเลือกและจัดลำดับเนื้อหาและประสบการณ์การเรียนรู้
ขั้นที่ 4 การกำหนดแนวทางการประเมินผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน
ขั้นที่ 5 การตรวจสอบคุณภาพหลักสูตรและการปรับแก้ก่อนนำไปใช้
ขั้นที่ 6 การนำหลักสูตรไปใช้
ขั้นที่ 7 การประเมินผลหลักสูตร
ขั้นที่ 8 การปรับปรุงแก้ไขหลักสูตร (นิรมล
ศตวุฒิ, 2554)
จากกระบวนการพัฒนาหลักสูตรทั้ง 8 ขั้นตอน จะเห็นได้ว่าในขั้นที่ 6 จะต้องมีการดำเนินการจัดการเรียนรู้หรือการจัดการเรียนการสอนตามหลักสูตร
กล่าวคือเมื่อจัดทำหลักสูตรเสร็จ และตรวจสอบคุณภาพหลักสูตร
พร้อมทั้งปรับปรุงแก้ไขให้สมบูรณ์แล้ว จึงนำหลักสูตรไปใช้ในการจัดการเรียนรู้
หรือการจัดการเรียนการสอน ซึ่งเป็นกิจกรรมหนึ่งในกระบวนการพัฒนาหลักสูตร
นอกจากนี้กระบวนการพัฒนาหลักสูตรและกระบวนการการจัดการเรียนการสอน
มีผลต่อกันและกัน การที่จะรู้ว่าหลักสูตรที่พัฒนาขึ้นนั้นมีผลสัมฤทธิ์ที่ดีหรือไม่
สามารถพิจารณาได้จากการนำหลักสูตรไปใช้ (Curriculum implementation) ถ้าหากการวางแผนหลักสูตรดีก็จะส่งผลให้การจัดการสอนเป็นไปด้วยดี และถึงแม้ว่าการวางแผนหลักสูตรดี
แต่เมื่อนำไปจัดการเรียนการสอนไม่สอดคล้องกับหลักสูตร
กระบวนการจัดการเรียนการสอนไม่ดี ก็ทำให้ไม่บรรลุจุดมุ่งหมายของหลักสูตรได้
หรือหากวางแผนหลักสูตรไม่เหมาะสม
ก็อาจทำให้การจัดการเรียนการสอนไม่ประสบผลสำเร็จได้
บรรณานุกรม
ณรุทธ์ สุทธจิตต์. (2544). พฤติกรรมการสอนดนตรี. พิมพ์ครั้งที่ 3.
กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์
มหาวิทยาลัย.
มหาวิทยาลัย.
นิรมล
ศตวุฒิ. (2554). การพัฒนาหลักสูตร. พิมพ์ครั้งที่ 4.
กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยรามคำแหง.
ราชบัณฑิตยสถาน.
(2555). พจนานุกรมศัพท์ศึกษาศาสตร์ ฉบับราชบัณฑิตยสถาน. กรุงเทพฯ:
อรุณการพิมพ์.
ศักดิ์ศรี
ปาณะกุล, นิรมล ศตวุฒิ และระวิวรรณ ศรีคร้ามครัน. (2549). หลักสูตรและการจัดการเรียนรู้.
พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยรามคำแหง.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น