วันอังคารที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2562

ความสัมพันธ์ระหว่างปรัชญาการศึกษาและการอุดมศึกษา


        ปรัชญาการศึกษา มีความสำคัญต่อการจัดการศึกษาในทุกระดับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระดับอุดมศึกษา เป็นตัวกำหนดทิศทางและแนวคิดในการจัดการศึกษา และสร้างคุณค่าต่อการศึกษาในแง่มุมต่างๆ เช่น ช่วยในการตั้งคำถามที่ลึกซึ้ง ช่วยให้เกิดความเข้าใจต่อแนวคิดและกิจกรรมทางการศึกษา ขจัดความไม่สอดคล้องกันในวงการศึกษา ช่วยให้เห็นภาพรวมของแนวคิดและกิจกรรมทางการศึกษา และช่วยเสนอแนวคิดใหม่ทางการศึกษา ดังภาพที่

ภาพที่ 1 แสดงความสัมพันธ์ระหว่างปรัชญาการศึกษาและการจัดการศึกษา
          ปรัชญาการศึกษา แบ่งออกเป็นประเด็นพิจารณา 3 ประเด็น 1) ปรัชญาการศึกษาที่ยึดปรัชญาเนื้อหาเป็นแม่บท ได้แก่ ปรัชญาสัจนิยม ปรัชญาจิตนิยม ปรัชญาปฏิบัตินิยม และปรัชญาอัตถิภาวนิยม 2) ปรัชญาการศึกษาที่ยึดตัวการศึกษาเป็นแกนกลาง และ 3) ปรัชญาการศึกษาที่มุ่งหาความกระจ่างในแนวคิดและกิจกรรมทางการศึกษา ทั้ง 3 ประเด็นมีความเกี่ยวข้องกับการอุดมศึกษา ซึ่งถือได้ว่า ตัวปรัชญาการศึกษานี้ เป็นจุดเริ่มต้น เป็นความเชื่อในการจัดการศึกษาว่าจะออกมาในทิศทางใด เกี่ยวข้องตั้งแต่ระดับกลยุทธ์จนถึงระดับการเรียนการสอน ปรัชญาการศึกษามีขอบเขตเนื้อหาดังนี้ 

ภาพที่ 2 ขอบเขตการศึกษาปรัชญาการศึกษา

          ปรัชญาการศึกษา มีทั้งที่เป็นผลมาจากปรัชญาแม่บท และพัฒนาขึ้นจากองค์ความรู้อื่นๆ เช่น ปรัชญาพิพัฒนาการ (Progressivism) จอห์น ดิวอี้ (John Dewey) พัฒนาจากพื้นฐานจิตวิทยา สังคม และการเมือง
ภาพที่ 3 แสดงถึงที่มาของปรัชญาพิพัฒนาการ 

          กรณีตัวอย่างปรัชญาการจัดการศึกษาของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เป็นกรณีหนึ่งที่มีความน่าสนใจ  เนื่องจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ก่อตั้งขึ้นตามนโยบายการพัฒนาภาคใต้ โดยมีเจตนารมณ์ตั้งแต่แรกเริ่มที่จะให้เป็นมหาวิทยาลัยหลักของภาคใต้ ทำหน้าที่ผลิตบัณฑิต วิจัย บริการวิชาการและทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม การจัดการศึกษาของมหาวิทยาลัยจึงมุ่งเน้นที่การพัฒนาคนเพื่อให้เป็นกำลังหลักของสังคม และยึดตามแนวทางการจัดการศึกษาของชาติที่มุ่งเน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง
          ปรัชญาการศึกษาของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จึงเป็นการจัดการศึกษาตามแนวทาง พิพัฒนาการนิยม (Progressivism) คือการพัฒนาผู้เรียนในทุกด้าน เพื่อให้พร้อมที่จะอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข และปรับตัวได้ดีตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป โดย ใช้กระบวนการจัดการเรียนรู้เป็นเครื่องมือในการพัฒนาผู้เรียนโดยให้ผู้เรียนเป็นศูนย์กลางของการเรียนรู้ และพัฒนาจากความต้องการของผู้เรียน ผ่านกระบวนการแก้ปัญหาและค้นคว้าด้วยตนเอง กระบวนการที่ต้อง ลงมือปฏิบัติทั้งในและนอกห้องเรียน ซึ่งจะนำไปสู่การเรียนรู้ที่ยั่งยืน และจากแนวคิดที่ว่าการพัฒนาคือการเปลี่ยนแปลง การเรียนรู้จึงไม่ได้หยุดอยู่เพียงภายในมหาวิทยาลัยแต่จะดำเนินไปตลอดชีวิต การจัดการศึกษาของมหาวิทยาลัยจึงมุ่งเน้นถึง การเรียนรู้ตลอดชีวิต ด้วย
          ปรัชญาสาขาพิพัฒนนิยม (Progressivism) เป็นส่วนหนึ่งของปรัชญาการศึกษากลุ่มเสรีนิยม (Liberal View) มีจุดมุ่งหมายของการศึกษา เพื่อพัฒนาผู้เรียนทุกด้านทั้งด้านร่างกาย อารมณ์ สังคม อาชีพและสติปัญญาควบคู่กันไป มีการส่งเสริมความถนัด และลักษณะพิเศษของผู้เรียน สิ่งที่เรียนควรเป็นประโยชน์และสอดคล้องกับชีวิตประจำวันและสังคมของผู้เรียน มีการส่งเสริมความเป็นประชาธิปไตยทั้งในและนอกห้องเรียน รวมถึงส่งเสริมให้ผู้เรียนได้รู้จักตนเองและสังคม เพื่อที่จะได้ปรับตัวให้เข้ากับสังคมได้อย่างมีความสุข (ไพฑูรย์ สินลารัตน์, 2555) ปรัชญาสาขาพิพัฒนนิยม สามารถจำแนกรายละเอียดการจัดการศึกษาตามองค์ประกอบของการศึกษาได้ดังนี้


หลักสูตร
ครู
ผู้เรียน
การเรียนการสอน
- เน้นที่ประสบการณ์ของผู้เรียนเป็นสำคัญ เป็นประสบการณ์ที่สัมพันธ์กับสังคม
- Child-centered Curriculum หรือ Activity-centered Curriculum
- เนื้อหาเป็นส่วนประกอบของหลักสูตรที่ทำให้เข้าใจตนเอง สังคม และประเมินประสบการณ์ของตนเองให้
ดีขึ้น 
- สนใจเนื้อหาทางสังคมศึกษา ภาษา และวิชาที่เกี่ยวกับสภาพปัญหาต่างๆของสังคม
- ทำหน้าที่เตรียมการสอน แนะนำ และให้คำปรึกษาเป็นหลักสำคัญ
- สนับสนุนให้เด็กได้เรียนรู้ เข้าใจ และเห็นจริงด้วยตนเอง

- การเรียนรู้จะเกิดได้ดีต่อเมื่อผู้เรียนได้มีประสบการณ์ตรงหรือลงมือทำด้วยตนเอง (Learning by Doing)
- ผู้เรียนมีอิสระที่จะเลือกตัดสินใจด้วยตนเอง มีส่วนร่วมในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน และมีส่วนที่
จะเลือกเนื้อหาและกิจกรรมที่ตนเองสนใจมากขึ้น
- การกำหนดหลักสูตรและกิจกรรม เป็นลักษณะการทำงานร่วมกัน (Participation) ระหว่างครูกับนักเรียน
เพื่อให้สอนตรงตามความต้องการของผู้เรียน แต่นักเรียนไม่ได้ร่างหลักสูตรเอง
- การเรียนการสอนเน้นที่ความสนใจและความถนัดของผู้เรียน
- การเรียนการสอนควรให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมในการวางแผน
- ครูเป็นผู้จัดสิ่งแวดล้อมให้ผู้เรียนเรียนรู้ด้วยตนเอง
- ผู้เรียนควรได้รับประสบการณ์ตรงในเรื่องที่ศึกษา
- ผู้เรียนควรได้รับประสบการณ์ที่น่าสนใจ ชักจูงใจ เช่น การใช้ภาพยนตร์ สไลด์ เชิญวิทยากรมาบรรยาย
- ผู้เรียนควรได้รับความช่วยเหลือให้รู้จักวิเคราะห์ปัญหา หาข้อมูลเพื่อแก้ปัญหา วิเคราะห์ข้อมูลต่างๆ
- ผู้เรียนควรได้รู้จักการวางโครงการ ดำเนินโครงการ วิเคราะห์ และประเมินโครงการต่างๆ ได้อย่างเหมาะสม
- ส่งเสริมประชาธิปไตยและความร่วมมือกันในการเรียนการสอน
- การเรียนควรเป็นกระบวนการต่อเนื่องเกี่ยวกันตลอดเวลา

  
        จากหลักการดังกล่าวข้างต้นนำไปสู่ การจัดการศึกษาที่มุ่งเน้นผลลัพธ์ (Outcome Based Education) โดยการพัฒนาหลักสูตร กระบวนการจัดการเรียนรู้ ที่มหาวิทยาลัยเชื่อว่าสามารถตอบสนองหลักการดังกล่าวได้ คือการจัดการเรียนรู้ ที่ ใช้กิจกรรมหรือการปฏิบัติ (Active learning) ที่หลากหลาย โดยเฉพาะ การใช้ปัญหาเป็นฐานในการเรียนรู้ (Problem-based Learning) การใช้โครงงานเป็นฐาน (Project-based Learning) และการเรียนรู้โดยการบริการสังคม (Service Learning) และยึดพระราชปณิธานของสมเด็จพระบรมราชชนก ขอให้ถือประโยชน์ของเพื่อนมนุษย์เป็นกิจที่หนึ่งเป็นแนวทางในการดำเนินการจัดการศึกษาได้เป็นอย่างดี 



บรรณานุกรม

พิมพ์พรรณ เทพสุเมธานนท์ และคณะ. (2558). ปรัชญาการศึกษา. พิมพ์ครั้งที่ 10. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์
          มหาวิทยาลัยรามคำแหง.
ไพฑูรย์ สินลารัตน์. (2555). ปรัชญาการศึกษาเบื้องต้น. พิมพ์ครั้งที่ 7. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์แห่ง
          จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์. (2560). แผนพัฒนามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ระยะยาว 20 ปี
          (พ.ศ.
2560-2579)
. [ออนไลน์] แหล่งที่มา http://www.planning.psu.ac.th/documents/
          information/planning/60-79/plan20years.pdf  สืบค้นวันที่ 1 ธันวาคม 2561
วิทย์ วิศทเวทย์. (2555). ปรัชญาการศึกษา. กรุงเทพฯ : โครงการเผยแพร่ผลงานวิชาการ คณะ
          อักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
อรุณี หงษ์ศิริวัฒน์. (2561). เอกสารประกอบการสอนเรื่อง ปรัชญาและความหมายของการศึกษา
          ระดับอุดมศึกษา
. สาขาวิชาอุดมศึกษา ภาควิชาภาควิชานโยบาย การจัดการและความเป็นผู้นํา

          ทางการศึกษา คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น