วันพฤหัสบดีที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2562

ดนตรีศึกษาในประเทศลาว


          ประเทศลาวเคยอยู่ภายใต้อาณานิคมของประเทศฝรั่งเศส ได้เอกราชในปี พ.ศ.2496 ต่อมาพรรคประชาชนปฏิวัติลาว ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสหภาพโซเวียตและคอมมิวนิสต์เวียดนาม โดยการนำของเจ้าสุภานุวงศ์ ได้ล้มล้างรัฐบาลประชาธิปไตยโดยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขของเจ้ามหาชีวิตสว่างวัฒนา ด้วยการสนับสนุนจากรัฐบาลฝรั่งเศสและสหรัฐอเมริกาสำเร็จ จึงนำเจ้ามหาชีวิตและมเหสีไปคุมขังในค่ายกักกันจนสิ้นพระชนม์ และสถาปนาประเทศลาวเป็น "สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว" ในวันที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2518 หลังจากนั้นประเทศลาวได้มีการพัฒนาประเทศในด้านต่าง ๆ ทั้งด้านการปกครอง เศรษฐกิจ การเมือง และสังคม โดยนายไกสอน พรหมวิหาร อดีตประธานประเทศแห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ได้กล่าวว่า การที่สูญเสียวัฒนธรรมนั้นคือการสูญเสียชาติ (สมจิตร ไสสุวรรณ, 2548)  ดังนั้นประเทศลาวจึงให้ความสำคัญกับการส่งเสริมวัฒนธรรมควบคู่ไปกับการพัฒนาในด้านอื่น ๆ รวมถึงในด้านการศึกษา
          ระบบการศึกษาของประเทศลาวเป็นแบบแนวตั้ง (Vertical) โดยมีการบริหารส่วนกลาง รับผิดชอบโดยกระทรวงศึกษาธิการและการกีฬา (Ministry of Education and Sport) มีอำนาจในการกำหนดนโยบายและมีอำนาจในการตัดสินใจในการดำเนินงานทางการศึกษา ระบบการศึกษาประเทศลาว แบ่งเป็น 4 ระดับ (ธงชัย สมบูรณ์, 2550; สีมาลา ลียงวา, 2557) ได้แก่ 1) อนุบาล (Kindergarten) แบ่งเป็นชั้นอนุบาล 1-3 ใช้เวลาเรียน 3 ปี  เป้าหมายของการศึกษาจะเน้นเตรียมความพร้อมทางด้านร่างกายมากกว่าสติปัญญา นอกจากนี้ยังเน้นการฝึกทักษะพื้นฐานและพัฒนาการทางด้านอารมณ์ของเด็กด้วย ระดับชั้นอนุบาลของประเทศลาวไม่สามารถจัดตั้งในท้องที่ชนบท ส่วนมากอยู่ในตัวเมือง มีทั้งในส่วนที่เป็นของรัฐบาลและเอกชน อย่างไรก็ตาม ในพื้นที่ชนบทยังมีสถานเลี้ยงเด็กโดยจัดให้เป็นศูนย์กลาง เรียกว่า โรงเลี้ยงเด็กหรือศูนย์พัฒนาความพร้อมเด็ก 2) ประถมศึกษา (Primary Education) แบ่งเป็นชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-5 ใช้เวลาศึกษา 5 ปี  เป็นการศึกษาภาคบังคับของประเทศ 3) มัธยมศึกษา (Secondary Education) แบ่งเป็นระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ใช้เวลาเรียน 4 ปีและมัธยมศึกษาตอนปลายใช้เวลาเรียน 3 ปี  การเรียนการสอนในระดับมัธยมศึกษาตอนต้นเน้นทางด้านการเตรียมตัว เพื่อออกไปสู่การประกอบอาชีพเสียส่วนใหญ่ เด็กที่จบจากโรงเรียนมัธยมศึกษาตอนต้น สามารถเข้าศึกษาต่อในโรงเรียนเทคนิคหรือโรงเรียนอาชีวะ หรือศึกษาต่อในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ส่วนผู้ที่จบมัธยมศึกษาตอนปลายสามารถเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาได้ และ 4) อุดมศึกษา (Higher Education) การจัดการศึกษาระดับสูงนี้ รวมถึงการศึกษาด้านเทคนิค สถาบันการศึกษาชั้นสูงหรือมหาวิทยาลัย อยู่ในความดูแลและรับผิดชอบของกรมอาชีวศึกษาและมหาวิทยาลัย และกระทรวงศึกษาธิการและกีฬา ยกเว้นการศึกษาเฉพาะทางซึ่งอยู่ในความดูแลของกระทรวงอื่น เช่น สถาบันวิจิตรศิลป์แห่งชาติ อยู่ในความดูแลของกระทรวงแถลงข่าวและวัฒนธรรม นักเรียนที่สำเร็จจากชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายสามารถเลือกเรียนในระดับอุดมศึกษา ได้แก่ วิทยาลัยเทคนิค วิทยาลัยครู หรือมหาวิทยาลัยแห่งชาติ การเรียนการสอนส่วนใหญ่ใช้เวลาเรียน 4-5 ปี ในมหาวิทยาลัย ส่วนการเรียนสาขาแพทยศาสตร์ใช้เวลาเรียน 6 ปี วิทยาลัยเทคนิค (สายอาชีพ) ใช้เวลาเรียน 3 ปี
          ปัจจุบันการจัดการศึกษาของประเทศลาวมีความสอดคล้องกับหลักมูลการศึกษา 5 ประการ พ.ศ.2554 กระทรวงศึกษาธิการและกีฬา (วันชัย วงษา, 2559) ประกอบด้วย 1) ปัญญาศึกษา มุ่งเน้นการพัฒนาคนที่เรียนทางด้านวิทยาศาสตร์ เสริมสร้างทักษะการคิด ทฤษฎี และทักษะทางปัญญา 2) คุณสมบัติศึกษา  มุ่งเน้นความรู้และคุณธรรม จริยธรรม มีศีลธรรม เคารพผู้อื่น 3) แรงงานศึกษา สร้างคนให้มีความขยันหมั่นเพียร มีงานทำ และช่วยประเทศชาติ 4) พลศึกษา สร้างคนให้มีความอุดมสมบูรณ์ สุขภาพดี และส่งเสริมทางด้านกีฬา และ 5) ศิลปศึกษา มุ่งเน้นการรักษาวัฒนธรรม ประเพณี ความเชื่อที่ดีงาม และสามารถประยุกต์ พัฒนา ปรับปรุงได้
          ดนตรีศึกษาในประเทศลาวแบ่งเป็น 2 ลักษณะคือ 1) การจัดการเรียนการสอนทางด้านดนตรี มีทั้งการศึกษาในระบบ นอกระบบและตามอัธยาศัย การศึกษาในระบบของประเทศลาว ปรากฏสาระดนตรีตั้งแต่ในระดับอนุบาล เน้นที่การร้องเพลงเป็นหลัก ในระดับประถมศึกษานอกจากการร้องเพลง มีสาระทางด้านดนตรีสอดแทรกบ้าง แต่สาระทางด้านดนตรีปรากฏอย่างชัดเจนในหลักสูตรการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ในกลุ่มสาระการเรียนรู้ศิลปะ มีรายละเอียดเนื้อหาเกี่ยวกับเสียง องค์ประกอบ อารมณ์และความรู้สึกของบทเพลงจากวัฒนธรรมต่าง ๆ การร้องเพลง การบรรเลงเครื่องดนตรีทั้งเดี่ยวและเป็นวง การสร้างสรรค์บทเพลงอย่างง่าย การอ่านเขียนโน้ตในบันไดเสียงที่มีเครื่องหมาย ปัจจัยที่มีผลต่อรูปแบบของผลงานทางดนตรี องค์ประกอบของผลงานด้านดนตรีกับศิลปะแขนงอื่น อิทธิพลของดนตรีที่มีต่อบุคคลและสังคม ความสัมพันธ์ อิทธิพลและบทบาทของดนตรีแต่ละวัฒนธรรมในยุคสมัยต่าง ๆ และระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย มีรายละเอียดเนื้อหาเกี่ยวกับรูปแบบบทเพลงและวงดนตรีแต่ละประเภท รูปแบบของวงดนตรีทั้งในประเทศและสากล อิทธิพลของวัฒนธรรมต่อการสร้างสรรค์ดนตรี อารมณ์และความรู้สึกที่ได้รับจากดนตรีที่มาจากวัฒนธรรมต่างกัน การอ่าน เขียน โน้ตดนตรี การร้องเพลง การเล่นดนตรีเดี่ยวและรวมวง รูปแบบ ลักษณะเด่นของดนตรีในประเทศและสากลในวัฒนธรรมต่าง ๆ และการส่งเสริมและอนุรักษ์ดนตรี (สิทธิกร สุมาลี, 2555) รวมถึงมีสถาบันที่สอนดนตรีโดยเฉพาะคือ โรงเรียนศิลปะแห่งชาติ เปิดสอนในระดับชั้นกลางและชั้นสูง สังกัดกระทรวงแถลงข่าวและวัฒนธรรม มุ่งเน้นในการผลิตศิลปิน ผลิตบุคลากรสายวัฒนธรรมและแยกวิชาเอกเฉพาะ และสถาบันวิจิตรศิลป์แห่งชาติลาว เปิดสอนในระดับปริญญาตรี สังกัดกระทรวงแถลงข่าวและวัฒนธรรม มุ่งเน้นในการผลิตศิลปิน ผลิตบุคลากรสายวัฒนธรรมและแยกวิชาเอกเฉพาะ หากจะเป็นครูต้องเรียนสายครูเพิ่ม การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยเป็นลักษณะโรงเรียนสอนดนตรีเอกชน และศูนย์วัฒนธรรมท้องถิ่น 2) การจัดการเรียนการสอนทางสาขาดนตรีศึกษา ในประเทศลาว เปิดสอนที่วิทยาลัยศิลปศึกษาในระดับชั้นกลาง ชั้นสูง และปริญญาตรี สังกัดกระทรวงศึกษาธิการและกีฬา มุ่งเน้นในการผลิตครูทางด้านศิลปะ ดนตรี และนาฏศิลป์
          วิทยาลัยศิลปศึกษา (Arts Education College) เป็นสถาบันแห่งเดียวในประเทศลาวที่เปิดสอนหลักสูตรสร้างครูศิลปศึกษา เพื่อผลิตครูที่มีความรู้ความสามารถในการถ่ายทอดความรู้ทั้งทักษะและการปฏิบัติทางด้านศิลปศึกษา 
(ศิลปกรรม) และดนตรีศึกษา (ศิลปะดนตรี) หรือประกอบอาชีพที่เกี่ยวข้องกับศาสตร์ทางด้านศิลปะและดนตรีที่ได้รับการยอมรับจากสังคม ซึ่งตอบสนองต่อความต้องการของประเทศชาติ



 
 



    วิทยาลัยศิลปศึกษาเปิดสอนตั้งแต่ระดับชั้นกลาง จนถึงระดับปริญญาตรี โดยการกำกับดูแลของกระทรวงศึกษาธิการและกีฬา แต่เดิมวิทยาลัยศิลปศึกษา เป็นโรงเรียนสร้างครูศิลปศึกษาชั้นกลาง ก่อตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2525 ต่อมาในปี พ.ศ. 2552 เปลี่ยนชื่อเป็น วิทยาลัยศิลปศึกษา ผู้อำนวยการวิทยาลัยศิลปศึกษาคนปัจจุบัน คือ อาจารย์วิละวัน บุนสุกไท โครงสร้างการบริหารประกอบด้วย ผู้อำนวยการวิทยาลัยศิลปศึกษา (ดูแลฝ่ายจัดตั้งคุ้มครองและบริหาร) รองผู้อำนวยการวิทยาลัยศิลปศึกษาฝ่ายวิชาการ (ดูแลฝ่ายวิชาการและติดตามประเมินผล) และรองผู้อำนวยการวิทยาลัยศิลปศึกษาฝ่ายกิจการนักศึกษา (ดูแลฝ่ายกิจการนักศึกษา) หัวหน้าห้องการ 5 ฝ่าย ได้แก่
        1. หัวหน้าห้องการฝ่ายวิชาการ ดูแลการบริการจัดการการเรียนการสอน       
        2. หัวหน้าห้องการฝ่ายบริหาร ดูแลและดำเนินการเกี่ยวกับการบริหารโครงสร้างและงบประมาณ
        3.หัวหน้าห้องการฝ่ายจัดตั้งคุ้มครอง ดูแลบุคลากร แผนงานต่าง ๆ การบริการ และเอกสารเกี่ยวกับครู การเลื่อนขั้นของครู สถิติต่างๆเกี่ยวกับครูและนักเรียน
         4. หัวหน้าห้องการฝ่ายติดตามประเมินผล ดูแลติดตามประเมินผล ตรวจสอบ และการประกันคุณภาพ
        5. หัวหน้าห้องการฝ่ายกิจการนักศึกษา ดูแลควบคุมระเบียบของวิทยาลัย ระเบียบวินัยของนักศึกษา ดูแลเรื่องที่พักและการเรียนของนักศึกษา
          วิทยาลัยศิลปศึกษามีหลักสูตรการศึกษาทั้งหมด 3 หลักสูตร คือ 1) หลักสูตรระดับชั้นกลาง หรือหลักสูตร 9+3 เทียบได้กับการเรียนในระดับปวช.ของประเทศไทย 2) หลักสูตรระดับชั้นสูง หรือหลักสูตร 12+2 เทียบได้กับการเรียนปวส.ของประเทศไทย และ 3) หลักสูตรระดับปริญญาตรี หรือหลักสูตร 12+4  โดยมีรายละเอียดดังนี้ (วันชัย วงษา, 2558)
          1. หลักสูตรระดับชั้นกลาง หรือหลักสูตร 9+3 (เรียนประถมศึกษา 5 ปี เรียนมัธยมศึกษาตอนต้น 4 ปี และมาต่อระดับวิชาชีพชั้นกลางที่วิทยาลัยศิลปศึกษา 3 ปี) เทียบได้กับระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ของประเทศไทย ในหลักสูตรผู้เรียนจะเรียนรวมทั้งวิชาทางศิลปะดนตรี (ดนตรีและนาฏศิลป์) และศิลปกรรม เมื่อจบหลักสูตรสามารถสอนศิลปะ ดนตรีและนาฏศิลป์ในระดับประถมศึกษาได้
          2. หลักสูตรระดับชั้นสูง หรือหลักสูตร 12+2 (เรียนประถมศึกษา 5 ปี เรียนมัธยมศึกษาตอนต้น 4 ปี เรียนมัธยมศึกษาตอนปลาย 3 ปี และมาต่อระดับวิชาชีพชั้นสูงที่วิทยาลัยศิลปศึกษา 2 ปี) เทียบได้กับระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) ของประเทศไทย ในหลักสูตรผู้เรียนจะเรียนแยกสาย เลือกเรียนอย่างใดอย่างหนึ่งระหว่างสายศิลปะดนตรี (ดนตรีและนาฏศิลป์) หรือสายศิลปกรรม เมื่อจบหลักสูตรสามารถสอนศิลปะ ดนตรีและนาฏศิลป์ในระดับมัธยมศึกษาตอนต้น และสามารถสอนมัธยมศึกษาตอนปลายได้ ถ้าบุคลากรไม่เพียงพอ
          3. หลักสูตรระดับปริญญาตรี หรือหลักสูตร 12+4 (เรียนประถมศึกษา 5 ปี เรียนมัธยมศึกษาตอนต้น 4 ปี เรียนมัธยมศึกษาตอนปลาย 3 ปี และมาต่อระดับปริญญาตรีที่วิทยาลัยศิลปศึกษา 4 ปี) ในหลักสูตรจัดรายวิชาทั้งศิลปะดนตรี (ดนตรีและนาฏศิลป์) และศิลปกรรมเข้าด้วยกัน เมื่อจบหลักสูตรสามารถสอนศิลปะ ดนตรีและนาฏศิลป์ในระดับมัธยมศึกษา การจัดหลักสูตรรวมรายวิชาทั้ง 3 สาขาเข้าด้วยกัน เนื่องจากบุคลากรไม่เพียงพอ และขาดงบประมาณในการสร้างครู จึงเน้นการผลิตครูในเชิงรู้รอบในสาระวิชาทางศิลปะทุกแขนง ไม่เน้นความเชี่ยวชาญ ในสาระวิชาเฉพาะสาขาใดสาขาหนึ่งโดยตรง วิชาส่วนใหญ่เน้นความรู้และวิธีการทางศิลปศึกษาโดยรวมไม่เน้นวิชาเอกเฉพาะ หลักสูตรในระดับปริญญาตรี กรมสร้างครู กระทรวงศึกษาธิการและกีฬาเป็นผู้จัดทำหลักสูตร และวิทยาลัยศิลปศึกษาเป็นผู้นำหลักสูตรเข้าสู่กระบวนการปฏิบัติและจัดการเรียนการสอน หลักสูตรสร้างครูมัธยมศึกษา สายวิชาครูศิลปศึกษา มีจำนวนหน่วยกิตรวมตลอดหลักสูตร 160 หน่วยกิต โดยมีสัดส่วนหน่วยกิตในแต่ละหมวดวิชาดังนี้ 1) หมวดวิชาความรู้ทั่วไป จำนวน 20 หน่วยกิต 2)หมวดวิชาพื้นฐานวิชาเฉพาะ จำนวน 45 หน่วยกิต 3) หมวดวิชาเฉพาะ จำนวน 91 หน่วยกิต และ 4) หมวดวิชาเลือก จำนวน 4 หน่วยกิต   
          กระทรวงศึกษาธิการและกีฬา มีการกำหนดสมรรถนะรวมในหลักสูตรสร้างครูมัธยมศึกษาสายวิชาครูศิลปศึกษา (กรมสร้างครู, 2556) ไว้ว่า ผู้จบการศึกษาต้องมีความสามารถในการสอนทั้งด้านศิลปศึกษา ดนตรีศึกษา และนาฏศิลป์ศึกษา และมีสมรรถนะต่าง ๆ ดังนี้
          1. สมรรถนะทางด้านรายวิชาและเทคนิคการสอน สามารถแนะนำนักเรียนในการค้นคว้าความรู้พื้นฐานของรายวิชา และนำใช้ความรู้ในชีวิตประจำวัน
          2. สมรรถนะทางด้านวิชาครู สามารถสร้างสภาพแวดล้อมการเรียนรู้ที่ปลอดภัยทางด้านจิตวิทยาที่เอื้ออำนวยต่อสุขภาพที่ดีของผู้เรียน
          3. สมรรถนะทางด้านการจัดตั้งคุ้มครอง สามารถสร้างสภาพแวดล้อมให้เป็นระเบียบภายในห้องเรียน
          4. สมรรถนะทางด้านความร่วมมือกับเพื่อนร่วมงาน สามารถทำงานร่วมกับเพื่อนร่วมงานและนำไปสู่การจัดระเบียบของโรงเรียน
          5. สมรรถนะทางด้านความร่วมมือกับชุมชน มีส่วนร่วมกับชุมชน ผู้ปกครองและองค์กรท้องถิ่น
          6. สมรรถนะในการไตร่ตรอง ประเมินและพัฒนาตนเอง มีความสามารถในการประเมินระดับความสามารถของตนเองและพัฒนาทางด้านวิชาชีพ เพื่อให้ทันกับสภาพการเปลี่ยนแปลง
          7. สมรรถนะทางด้านความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล สามารถสร้างบรรยากาศแห่งความเป็นมิตร ความร่วมมือและติดต่อสื่อสารอย่างเปิดกว้าง
          วิทยาลัยศิลปศึกษามีการเตรียมตัวเข้าสู่ประชาคมอาเซียนด้วยการจัดรายวิชาวัฒนธรรมอาเซียน และทำข้อตกลง (MOU) ทางด้านวัฒนธรรมและทางด้านวิชาการกับประเทศต่าง ๆ เช่น ประเทศไทย ประเทศเวียดนาม ในอนาคต หากมีบุคลากรและงบประมาณเพียงพอ ทางวิทยาลัยจะดำเนินการจัดหลักสูตรแยกระหว่างสาขาศิลปศึกษาและสาขาดนตรีศึกษา รวมถึงอาจมีการเปิดสอนสาขาศิลปศึกษาและดนตรีศึกษาในระดับปริญญาโทเพื่อสร้างบุคลากรครูและนักวิชาการที่มีคุณภาพในการพัฒนาการศึกษาของประเทศชาติสืบไป


บรรณานุกรม
กรมสร้างครู. (2556). หลักสูตรสร้างครูมัธยมศึกษา สายวิชาครูศิลปศึกษา. เวียงจันทน์:
        กรมสร้างครู กระทรวงศึกษาธิการและกีฬา.
จิรกานต์ สิริกวินกอบกุล และณรุทธ์ สุทธจิตต์. 2558. การพัฒนากรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับปริญญาตรี
        สาขาวิชาดนตรีศึกษาสำหรับสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ตามกรอบมาตรฐานคุณวุฒิ
        ระดับอุดมศึกษาแห่งชาติ. ปริญญาครุศาสตรมหาบัณฑิต (สาขาวิชาดนตรีศึกษา). กรุงเทพฯ: คณะ
        ครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
ธงชัย สมบูรณ์. (2550). การศึกษาของประเทศในเอเชีย. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัย
        รามคำแหง.
ทรงคุณ จันทจร. (2551). ประวัติศาสตร์ลาว (ดึกดำบรรพ์-ปัจจุบัน). มหาสารคาม: สถาบันวิจัยศิลปะ
        และวัฒนธรรมอีสาน มหาวิทยาลัยมหาสารคาม.
ณรุทธ์ สุทธจิตต์. (2561). ดนตรีศึกษา หลักการและสาระสำคัญ. พิมพ์ครั้งที่ 10.
        กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
วันชัย วงษา. 2558, 22 เมษายน. อาจารย์วิทยาลัยศิลปศึกษา.  สัมภาษณ์.
วันชัย วงษา. 2558, 9 มิถุนายน. อาจารย์วิทยาลัยศิลปศึกษา.  สัมภาษณ์.
วิทย์ บัณฑิตกุล. (2555). สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว. กรุงเทพมหานคร: สถาพรบุ๊คส์ จำกัด
สีมาลา ลียงวา. 2557, 3 ธันวาคม. สัมภาษณ์.
สมจิตร ไสสุวรรณ. (2548). การดนตรีศึกษาในสถาบันการศึกษาของรัฐ ประเทศสาธารณรัฐ
        ประชาธิปไตยประชาชนลาว
. ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาดนตรี บัณฑิตวิทยาลัย
        มหาวิทยาลัยมหิดล.
สิทธิกร สุมาลี. (2555). การศึกษาเปรียบเทียบหลักสูตรของประเทศสมาชิกในกลุ่มประชาคมอาเซียนเพื่อ
        การเทียบโอนผลการเรียนและเทียบวุฒิการศึกษา. วารสารศึกษาศาสตร์ปริทัศน์
, 27 (2), 13-32.
สีสุก พันแพงดี. 2558, 22 เมษายน.  รองผู้อำนวยการวิทยาลัยศิลปศึกษา.  สัมภาษณ์.
สีสุก พันแพงดี. 2558, 9 มิถุนายน.  รองผู้อำนวยการวิทยาลัยศิลปศึกษา.  สัมภาษณ์.

หมายเหตุ * เนื้อหาในส่วนนี้ นำมาจากหนังสือดนตรีศึกษา หลักการและสาระสำคัญ ซึ่งเขียนโดย
รศ.ดร.ณรุทธ์ สุทธจิตต์





1 ความคิดเห็น:

  1. How to make money from sports betting
    · Translate to “Make Money from Sports Betting”; This is a simple and well-structured If you are looking for a way to make money from sports betting, หาเงินออนไลน์

    ตอบลบ