วันพุธที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2562

การวิจัยและพัฒนา (Research and Development)


การวิจัยและพัฒนา
(Research and Development)
         การวิจัยและพัฒนา เรียกย่อๆว่า R&D เป็นลักษณะหนึ่งของการวิจัยประยุกต์ (Applied research)  ซึ่งแนวคิดในการทำวิจัยลักษณะนี้ มีมาประมาณ 50 กว่าปีที่แล้ว แต่เป็นการศึกษาในวงการอุตสาหกรรม โดยมีวัตถุประสงค์ในการพัฒนาคุณภาพสินค้า การผลิตภัณฑ์ใหม่หรือสิ่งประดิษฐ์ใหม่ หรือพัฒนากระบวนการ ระบบหรือวิธีการทำงาน เพื่อให้ได้สิ่งที่ดีขึ้นกว่าเดิม ก่อนที่จะนำผลิตภัณฑ์ออกสู่ตลาด
         นักการศึกษาบางกลุ่มจัดวิจัย R&D เป็นลักษณะหนึ่งของวิจัยเชิงปฏิบัติการ (Action Research) ที่ใช้กระบวนการศึกษาค้นคว้าอย่างเป็นระบบ มุ่งพัฒนาทางเลือกหรือวิธีการใหม่ๆ เป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการพัฒนางาน พัฒนาวิชาชีพ หรือการพัฒนาวิถีชีวิตของมนุษย์ ซึ่งในปัจจุบัน องค์กรจำนวนมากได้พยายามส่งเสริมให้บุคลากรในสังกัดมีความรู้ความสามารถด้านการวิจัยและพัฒนา โดยเชื่อว่า การวิจัยและพัฒนาจะช่วยให้ได้ทางเลือกหรือวิธีการใหม่ๆ ที่จะช่วยให้การปฏิบัติงานมีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้นเป็นลำดับ
            การวิจัย R&D เป็นการวิจัยเชิงทดลอง โดยมีการพัฒนาต้นแบบนวัตกรรม (หมายถึงสื่อ/สิ่งประดิษฐ์ หรือวิธีการ) แล้วมีการทดลองใช้ เพื่อตรวจสอบคุณภาพในเชิงประจักษ์ ทั้งนี้ นวัตกรรมที่นำมาทดลอง คือ ปฏิบัติการ (Treatment) หรือตัวแปรต้น โดยมี ดัชนีชี้คุณภาพในลักษณะใดลักษณะหนึ่งเป็นตัวแปรตาม
          การศึกษาก็ได้มีการนำการวิจัย R&D มาใช้ในการพัฒนารูปแบบ วิธีการสอน กิจกรรมการสอน สื่อการสอน และนวัตกรรม เพื่อแก้ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับผู้เรียน
           
           
               หลักในการวิจัยและพัฒนา พอสรุปได้ดังนี้ 
 
            โดยประเภทของนวัตกรรม แบ่งออกเป็น 1.นวัตกรรมประเภทสื่อ อุปกรณ์ ชิ้นงาน วัสดุ และ
2.นวัตกรรมประเภทรูปแบบ วิธีการ กระบวนการ ระบบปฏิบัติการ และ เทคนิคต่างๆ

 
การวิจัยและพัฒนาทางการศึกษา
            การวิจัยและพัฒนาทางการศึกษา (Educational Research and Development) เป็นวิธีการพัฒนาศึกษารูปแบบหนึ่งที่แสดงผลอย่างเป็นรูปธรรมและชัดเจน เพื่อการเปลี่ยนแปลง ปรับปรุงโดยเน้นตรรกวิทยาและหลักเหตุผล มุ่งสู่เป้าหมายหลักในกระบวนการพัฒนาโดยอาศัยพื้นฐานการวิจัย


 
ขั้นตอนของการวิจัยและพัฒนา
              พอจะสรุปได้ 11 ขั้นดังนี้
                   1. กำหนดผลิตภัณฑ์ทางการศึกษาที่จะทำการพัฒนา
                   2. รวบรวมข้อมูลและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง
                   3. วางแผนการวิจัยและพัฒนา
                   4. พัฒนารูปแบบขั้นต้นของผลิตภัณฑ์
                   5. ทดลองหรือทดสอบผลิตภัณฑ์ครั้งที่ 1
                   6. ปรับปรุงผลิตภัณฑ์ครั้งที่ 1 
                   7. ทดลองหรือทดสอบผลิตภัณฑ์ครั้งที่ 2
                   8. ปรับปรุงผลิตภัณฑ์ครั้งที่ 2
                   9. ทดลองหรือทดสอบผลิตภัณฑ์ครั้งที่ 3
                 10. ปรับปรุงผลิตภัณฑ์ครั้งที่3 (ครั้งสุดท้าย)
                 11. เผยแพร่
  
            การวิจัยและพัฒนา มีข้อดีคือ 1. ทำให้ได้ผลิตภัณฑ์ซึ่งนำไปใช้ในการพัฒนาบุคลากรหรือองค์การ 2. ได้ผลิตภัณฑ์ที่มีความหมายและตรงกับความต้องการของผู้ใช้ และ 3. มีส่วนส่งเสริมชื่อเสียงและรายได้แก่นักวิจัยผู้สร้างสรรค์งานวิจัย ในการทำวิจัยและพัฒนา ส่วนในด้านข้อจำกัดนั้นคือ การวิจัยและพัฒนาจะใช้ระยะเวลา พลังสติปัญญาและจิตใจ รวมทั้งค่าใช้จ่ายจำนวนมาก

แนวการปฏิบัติในการออกแบบวิจัยและพัฒนา
ชื่อเรื่องของการวิจัยและพัฒนา
            แบ่งเป็น 3 ส่วน คือ ส่วนแรก จะบ่งบอกถึงความต้องการของผู้วิจัย ส่วนที่สองจะบ่งบอกถึงนวัตกรรมของวิจัย และส่วนสุดท้ายบ่งบอกถึงเป้าหมายว่าทำวิจัยกับใคร มีกระบวนการอย่างไร
ตัวอย่างชื่อเรื่องการวิจัยและพัฒนา
- การวิจัยและพัฒนาระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนในโรงเรียนขยายโอกาสทางการศึกษาในภาคกลาง
- การพัฒนาระบบการสร้างสุขภาพสำหรับผู้สูงอายุ
- การพัฒนารูปแบบการสอนทักษะชีวิตนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนต้น
ปัญหาการวิจัยในการวิจัยและพัฒนา
            ตอบสนองความต้องการสิ่งใดสิ่งหนึ่งมี   2   ลักษณะ คือ  1.ต้องการแก้ปัญหา  และ 2.ต้องการสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ
ตัวอย่างการเขียนปัญหาวิจัย
1.  สิ่งใดจะช่วยให้นักเรียนมีผลสัมฤทธิ์ดีขึ้น
2.  รูปแบบใดที่สามารถพัฒนาทักษะชีวิตของนักเรียนได้ดี
3.  เครื่องมือใดทำให้ผู้ป่วยมีความเจ็บน้อยลง
4 . อะไรทำให้องค์กรทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
5.  รูปแบบใดที่เหมาะสมกับสภาพการจัดการศึกษาในปัจจุบัน
6.  รูปแบบการบริหารใดที่ทำให้โรงเรียนขนาดเล็กมีประสิทธิภาพมากขึ้น
ตัวอย่างการเขียนวัตถุประสงค์ของการวิจัยและพัฒนา
ชื่อเรื่อง : การพัฒนาระบบการสร้างสุขภาพสำหรับผู้สูงอายุ
วัตถุประสงค์
            1. เพื่อศึกษาระบบการสร้างสุขภาพสำหรับผู้สูงอายุ
            2. เพื่อพัฒนาระบบการสร้างสุขภาพสำหรับผู้สูงอายุ
            3. เพื่อประเมินการใช้ระบบการสร้างสุขภาพสำหรับผู้สูงอายุ
            4. เพื่อศึกษาและขยายผลการใช้ระบบการสร้างสุขภาพสำหรับผู้สูงอายุ
 
การออกแบบในเรื่องของประชากร และกลุ่มตัวอย่าง
            ผู้วิจัยจะต้องกำหนดเป้าหมายประชากร หรือกลุ่มเป้าหมายในการใช้นวัตกรรมอย่างชัดเจน
การออกแบบในเรื่องการวัดตัวแปรหรือการเก็บรวบรวมข้อมูล
            นักวิจัยจะต้องกำหนดประเด็น ตัวบ่งชี้ที่ต้องการวัด พร้อมทั้งกำหนดแหล่งข้อมูล หรือผู้ให้ข้อมูลหลักอย่างครบถ้วน กำหนดประเภทเครื่องมือหรือวิธีการวัด ช่วงเวลาในการวัด (เช่น วัดก่อน และเมื่อเสร็จสิ้นการทดลอง) พร้อมกำหนดแนวปฏิบัติในการพัฒนาเครื่องมือและตรวจสอบคุณภาพของเครื่องมือวัดแต่ละรายการ
            เครื่องมือในการวิจัยได้แก่  1) เครื่องมือทดลอง หรือชุดนวัตกรรม หรือชุดปฏิบัติการ และ 2) เครื่องมือเก็บรวบรวมข้อมูลหรือเครื่องมือวัดตัวแปร
            ในการเลือกใช้เครื่องมือวัด ซึ่งมีหลายชนิด อาทิ แบบทดสอบ แบบสอบถาม แบบสัมภาษณ์ แบบสังเกต แบบประเมินคุณลักษณะต่างๆ เป็นต้น
            การตัดสินใจว่าจะเลือกใช้เครื่องมือวัดชนิดใด จะต้องคำนึงถึงธรรมชาติ หรือลักษณะของตัวบ่งชี้ที่ต้องการวัด และข้อจำกัดต่างๆ
            ในการเก็บรวบรวมข้อมูล เพื่อการวิจัยและพัฒนานวัตกรรม นักวิจัยจะต้องระลึกเสมอว่า จะต้องเน้นในเรื่องความรวดเร็ว คล่องตัว มีประสิทธิภาพ สามารถรวบรวมข้อมูลได้อย่างรวดเร็ว ทันกับช่วงเวลาต่างๆ ในขณะดำเนินการทดลองนวัตกรรม และกระบวนการเก็บรวบรวมข้อมูลจะต้องไม่เกิดผลกระทบเชิงลบต่อกระบวนการพัฒนา
การออกแบบในเรื่องสถิติ แนวทางการวิเคราะห์ข้อมูล
            สถิติที่ใช้ในงานวิจัยและพัฒนา สามารถเลือกใช้สถิติในลักษณะเดียวกับงานวิจัยทั่วไป ซึ่งจะมีทั้งสถิติเชิงบรรยาย (Descriptive Statistics) และสถิติอ้างอิง (Inferential Statistics) ซึ่งการเลือกใช้วิธีการทางสถิติที่เหมาะสม จะเพิ่มความน่าเชื่อถือของผลงานวิจัยได้
การเขียนรายงานการวิจัยและพัฒนา
            ผู้วิจัยอาจดำเนินการตามกรอบโครงสร้างของรายงานการวิจัยที่เป็นแบบสากลทั่วไป หรืออาจปรับเปลี่ยนโครงสร้างของรายงานให้เหมาะสมกับลักษณะหรือประเภทของการวิจัย อย่างไรก็ตามเนื้อหาสาระของรายงานจะต้องสะท้อนให้เห็นสาระที่สำคัญอย่างน้อย 3 ส่วน คือ 1) ความเป็นมาของปัญหาและวัตถุประสงค์ของการวิจัย 2) แนวทางในการวิจัย และ 3) ผลลัพธ์ที่ได้จากการวิจัย
            ในกรณีของรายงานการวิจัยและพัฒนา จะต้องสื่อสารให้ทราบอย่างน้อย คือ 1) ความเป็นมาและวัตถุประสงค์ของการพัฒนานวัตกรรม 2) วิธีดำเนินการพัฒนานวัตกรรม และ 3) ผลการพัฒนานวัตกรรม ทั้งในเชิงปริมาณ และคุณภาพ เน้นที่การบอกเล่ากระบวนการพัฒนาและผลการใช้นวัตกรรม พร้อมทั้งต้องแสดงผลงานที่ได้จากการพัฒนาคือ สื่อ/อุปกรณ์/ชิ้นงาน หรือรูปแบบทำงานอย่างชัดเจน ลักษณะการนำเสนอโดยทั่วไป จะปรากฎใน 2 ลักษณะคือ
            1. ผลงานประเภทสิ่งประดิษฐ์ อาทิ พัฒนาสื่อ อุปกรณ์ ชิ้นงาน ฯลฯ การนำเสนอจะประกอบด้วย 2 ส่วนสำคัญ คือ 1) ตัวสื่อ/นวัตกรรม/สิ่งประดิษฐ์ และ 2) รายงานการพัฒนาหรือรายงานผลการทดลองใช้ ผลงานวิจัยและพัฒนาในลักษณะนี้จะมีคุณค่ามากน้อยเพียงใด ขึ้นอยู่กับความน่าสนใจ ความสร้างสรรค์ของตัวผลงาน/สื่อ/อุปกรณ์/ชิ้นงาน เป็นสำคัญ
            2. ผลงานประเภททดลองรูปแบบการบริหารจัดการ หรือรูปแบบการปฏิบัติงาน อาทิ ทดลองรูปแบบการสอน รูปแบบการทำงานใหม่ๆ ฯลฯ ผลงานประเภทนี้มักนำเสนอเป็นเล่มเดียว ในลักษณะของรายงานการทดลอง/รายงานการพัฒนา โดยจะต้องอธิบายให้เห็นรูปแบบของนวัตกรรมอย่างเป็นรูปธรรมชัดเจน

บรรณานุกรม
ดนัย เทียนพุฒ. (2557). โมเดลการวิจัยและพัฒนา : R&D Model. [ออนไลน์]
        แหล่งที่มา http://newthaimba.blogspot.com/2014/03/r-model.html
        สืบค้นวันที่ 8 เมษายน 2560
ภาวิดา ธาราศรีสุทธิ. (2550). การจัดและการบริหารงานวิชาการ. กรุงเทพฯ : ภาควิชา
        บริหารการศึกษา และอุดมศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง.
ลัดดา เหลืองรัตนมาศ. (2559). แนวทางการออกแบบการวิจัยและพัฒนา
        (Research and Development). [ออนไลน์]  แหล่งที่มา http://49.231.196.184/knowledge/
        ?p=377 สืบค้นวันที่ 8 เมษายน 2560
วรรณี แกมเกตุ. (2555). วิธีวิทยาการวิจัยทางพฤติกรรมศาสตร์. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพมหานคร:
        โรงพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
วาโร เพ็งสวัสดิ์. (2552). การวิจัยและการพัฒนา. วารสารมหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร, 1(2) :
        กรกฎาคม-ธันวาคม. 1-12.
สาโรช โศภีรักข์. [ม.ป.ป.]. การวิจัยและพัฒนา. [ออนไลน์] แหล่งที่มา
        http://rlc.nrct.go.th/ewt_dl.php?nid=1240  สืบค้นวันที่ 8 เมษายน 2560
สุพักตร์ พิบูลย์. (2553). การวิจัยและพัฒนา. [ออนไลน์] แหล่งที่มา
        http://www.priv.nrct.go.th/download/Research_Zone/phase12_20100322_8.pdf  
        สืบค้นวันที่ 8 เมษายน 2560
 

2 ความคิดเห็น:

  1. ป.ล วันนี้ลงรูปแล้วรวนๆนิดนึง ตัวอักษรฟอร์แมทยังไม่ค่อยสวย จะปรับปรุงอีกครั้งนะคะ และก็รูปด้านหลังบรรณานุกรมมันเกินมานะคะ ขออภัยค่า ^^"

    ตอบลบ
  2. 888 Casino (Md.S.) | Dr.MCD
    The brand new casino is 오산 출장마사지 located in the Wynn 남양주 출장안마 Resort in 김천 출장샵 Las Vegas. It is located on 의왕 출장마사지 the corner of South Lake Tahoe and The Mirage 익산 출장마사지 in Las

    ตอบลบ